การผ่าตัดหัวใจในเด็กแรกเกิด

ในทางการแพทย์การผ่าตัดเพื่อแก้ไขหัวใจพิการแต่กำเนิดของเด็กทารกถือเป็นวิทยาการที่ค่อนข้างใหม่ ได้รับการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่าเด็กทารกตัวเล็กๆ บางครั้งหนักเพียง 2 – 3 กิโลกรัม มีหัวใจขนาดเล็กกว่าหรือเท่าลูกปิงปอง มีกระบวนการอย่างไรในการผ่าตัดหัวใจดวงเล็กๆ ของเด็กตัวน้อยเหล่านี้

ความผิดปกติของหัวใจที่มักจะต้องถูกผ่าตัดตั้งแต่แรกเกิดที่พบบ่อยที่สุดก็คือ การที่มีขั้วหัวใจสลับกัน (Transposition of the Great Arteries) เป็นความพิการแบบซับซ้อนที่ธรรมชาติหลงลืมปล่อยให้เลือดแดงจากปอดไหลย้อนกลับไปปอดแทนที่จะไปเลี้ยงร่างกายและปล่อยให้เลือดดำที่มีของเสียที่ไหลกลับจากร่างกายย้อนกลับไปเลี้ยงร่างกายเหมือนเดิมแทนที่จะนำไปฟอกที่ปอดเสียก่อน อีกทั้งเส้นเลือดโคโรนารีที่ไปเลี้ยงหัวใจก็ยังออกจากเส้นเลือดดำใหญ่เสียอีก การทำผ่าตัดแก้ไขเรียกว่าการผ่าตัดสลับขั้วหัวใจรวมถึงการย้ายเส้นเลือดโคโรนารี (Coronary artery) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตรนี้กลับไปปะไว้ที่เส้นเลือดแดงใหญ่ให้เหมือนกับคนปกติทั่วไป (Arterial Switch Operation)

กระบวนการผ่าตัดหัวใจเด็กตัวเล็กเหล่านี้ต้องอาศัยทีมแพทย์และพยาบาลกว่า 10 คน อันประกอบด้วย ทีมดมยา ทีมผ่าตัด ทีมเครื่องปอดหัวใจเทียม และทีมดูแลหลังผ่าตัด เรามักจะเริ่มงานกันแต่เช้า โดยนำเจ้าตัวเล็กเข้ามาที่ห้องผ่าตัดเริ่มด้วยการแทงเส้นน้ำเกลืออันเล็กๆ ให้ได้สักหนึ่งอันก่อนซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างหินพอสมควร เพราะเจ้าตัวเล็กจะหงุดหงิดและดิ้น หลังจากนั้น ก็จะใส่ท่อช่วยหายใจและเริ่มให้ยาสลบ ตอนนี้เจ้าตัวเล็กจะกลายเป็นเด็กดียอมให้หมอและพยาบาลทำงานต่อไปง่ายขึ้นหน่อย จากนั้นเราก็จะใส่เข็มเล็กๆ ไปที่หลอดเลือดแดงที่ข้อมือเพื่อวัดความดันของเจ้าตัวเล็กระหว่างการผ่าตัดและใส่สายน้ำเกลือเข้าไปเส้นเลือดดำใหญ่ที่คอเพื่อเอาไว้ให้ยา รวมถึงใส่ท่อปัสสาวะสำหรับตวงปริมาณของปัสสาวะ ตอนนี้เจ้าตัวเล็กก็พร้อมที่จะรับการผ่าตัดแล้ว

บริเวณหน้าอกของเจ้าตัวเล็กจะได้รับการทำความสะอาดด้วยน้ำยาพิเศษ ที่นี้ก็จะเริ่มลงมีดเป็นแผลยาวลงมา 2 นิ้ว บริเวณกลางหน้าอก กระดูกหน้าอกจะถูกเปิดออกที่กึ่งกลาง เมื่อเยื้อหุ้มหัวใจได้รับการแบะออกก็จะเห็นหัวใจดวงเล็กเต้นอยู่ตรงหน้า ตามปกติในการผ่าตัดหัวใจในผู้ใหญ่หรือเด็กโตจะต้องหยุดหัวใจ และทำให้ภายในหัวใจมีเลือดน้อยโดยถ่ายเลือดดำออกจากหัวใจห้องบนขวาเข้าไปยังเครื่องปอดหัวใจเทียม (HEART-LUNG MACHINE) แล้วนำไปฟอกที่ปอดเทียมและจากนั้นเครื่องปอดหัวใจเทียมจะสูบฉีดเลือดกลับไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่ของหัวใจอีกครั้งหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ก็จะทำให้เลือดในหัวใจแห้งในระดับหนึ่งพอที่จะผ่าตัดหัวใจได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่

แต่สำหรับในเด็กทารกที่หัวใจเล็กมากๆ และมีความผิดปกติซับซ้อนมาก การที่ยังมีเลือดตกค้างอยู่ในหัวใจแม้เพียงไม่มากก็จะบดบังการมองเห็นทำให้ความแม่นยำในการผ่าตัดลดลงซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เราจึงต้องทำให้ภายในหัวใจของเด็กแห้งสนิท โดยวิธีที่เรียกว่าการหยุดการไหลเวียนเลือดทั้งหมด (circulatory arrest) โดยการใช้เครื่องทำความเย็นที่อยู่ในเครื่องปอดหัวใจเทียมลดอุณหภูมิของเลือดเด็กลงไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ จนเลือดเด็กมีอุณหภูมิ 12 – 15 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุผลเพื่อที่จะลดอัตราการทำงานของสมองของเด็กและอวัยวะสำคัญอื่นๆ ลงให้มากที่สุด จากนั้นเราก็จะใช้น้ำแข็งโปะบนหัวเด็กเพื่อให้แน่ใจว่าสมองมีอุณหภูมิต่ำตามที่ต้องการ เพราะสมองเป็นอวัยวะสำคัญที่ทนต่อการขาดเลือดได้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องแน่ใจว่าเซลล์สมองถูกป้องกันด้วยความเย็นเป็นอย่างดี

เมื่อแน่ใจว่าอวัยวะทุกส่วนของเจ้าตัวเล็กถูก “แช่เย็น” ได้ที่แล้วเราก็จะหยุดหัวใจด้วยการฉีดสารโปแตสเซียมความเข้มข้นสูงเข้าไปในหัวใจ และใช้เกล็ดน้ำแข็งใส่รอบๆ หัวใจเพื่อช่วยให้หัวใจมีอุณหภูมิที่ต่ำพอ จากนั้นเราก็จะลดการไหลเวียนของเลือดจากเครื่องปอดหัวใจเทียมให้น้อยลง เพราะในอุณหภูมิต่ำการใช้ออกซิเจนของอวัยวะทุกส่วนจะลดลง ภายในหัวใจก็จะมีเลือดไหลผ่านน้อยลง “มีสภาพแห้ง” ที่จะเริ่มทำการผ่าตัดแก้ไขความพิการของหัวใจได้

เราจะเริ่มด้วยการย้ายเส้นเลือดโคโรนารีเล็กๆ ทั้งสองเส้นที่อยู่ผิดที่บนหลอดเลือดดำใหญ่กลับมาอยู่ให้ถูกที่บนหลอดเลือดแดงใหญ่แทน ต่อจากนั้นเราจะสลับเส้นเลือดใหญ่ของขั้วหัวใจ หลังจากนั้น เราจะเริ่มผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ “ภายในห้องของหัวใจ” เนื่องจากหัวใจของเด็กทารกเล็กมาก การทำการผ่าตัดภายในหัวใจจึงต้องทำให้หัวใจแห้งสนิทโดยการหยุดการไหลเวียนของเลือดทั้งหมดและถ่ายเลือดทั้งหมดออกจากตัวเด็กเข้าไปเก็บไว้ในเครื่องปอดหัวใจเทียมแล้วหยุดเครื่องปอดหัวใจเทียมไว้ชั่วคราว

ตอนนี้แหละนาฬิกาจะเริ่มเดิน เรามีเวลาเพียง 45 นาที ที่จะแก้ไขความผิดปกติทุกๆ อย่างที่อยู่ภายในหัวใจให้เสร็จ ซึ่งรวมถึงการแปะผนังของหัวใจที่รั่ว ทั้งระหว่างห้องล่างและห้องบน และการแก้ไขความผิดปกติอื่นๆ ที่อยู่ภายในหัวใจทั้งหมด เหตุผลที่ต้องวิ่งแข่งกับเวลาให้เสร็จภายใน 45 นาที ก็เพราะความปลอดภัยของสมองนั่นเอง เนื่องจากหลักฐานทางการแพทย์พบว่าเวลา 45 นาที เป็นเวลาที่ปลอดภัยสำหรับการหยุดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองในภาวะอุณหภูมิต่ำดังกล่าว แต่เราจะพยายามหยุดการไหลเวียนเลือดแบบนี้ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมากจะใช้เวลาประมาณ 10 - 20 นาที สำหรับการผ่าตัด Arterial Switch Operation นี้ เพื่อให้สมองและอวัยวะอื่นๆ เสี่ยงต่อการขาดเลือดน้อยที่สุด

ขั้นตอนต่อไปคือการเริ่มนำเลือดให้กลับมาเลี้ยงร่างกาย โดยเริ่มเดินเครื่องปอดหัวใจเทียมอย่างช้าๆ และค่อยๆ ใช้เครื่องทำความร้อนในเครื่องปอดหัวใจเทียมอุ่นเลือดขึ้นมาทีละน้อย ในช่วงนี้หมอผ่าตัดจะปล่อยเลือดให้กลับเข้าไปเลี้ยงหัวใจ ต่อจากนี้จะเป็นการรอเวลาในการอุ่นเลือดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเลือดอุ่นเท่าอุณหภูมิปกติ คือ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งในระหว่างนี้หัวใจก็จะค่อยๆ กลับมาเต้นเองอย่างช้าๆ และค่อยๆ เร็วขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับจนปกติ

เมื่ออุณหภูมิของเลือดอุ่นได้ที่แล้ว อุณหภูมิทั่วร่างกายก็อุ่นอย่างสม่ำเสมอและหัวใจเต้นได้กระฉับกระเฉงดีแล้ว หัวใจใหม่ที่ถูกซ่อมอย่างสมบูรณ์ก็พร้อมที่จะทำงานด้วยตัวเอง เราจะค่อยๆ ลดการทำงานของเครื่องปอดหัวใจเทียมลงทีละน้อยจนหยุดในที่สุด เมื่อหัวใจเต้นได้เองเป็นอย่างดีและสามารถรักษาความดันเลือดของร่างกายไว้ได้ด้วยดีก็ถือว่าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ หมอผ่าตัดก็จะโล่งใจไปอีกเปลาะหนึ่ง

เมื่อปิดกระดูกหน้าอกและปิดแผลเรียบร้อยแล้ว ย้ายเจ้าตัวเล็กเข้าไปในห้อง ICU ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดใน 24 ชั่วโมงแรก จนถึงรุ่งเช้าของวันถัดมา เช้าวันนั้นเจ้าตัวเล็กก็มักจะตื่นจากยาสลบและยาแก้ปวดที่ให้ไว้ทั้งคืน เมื่อหมอผ่าตัดเห็นเจ้าตัวเล็กลืมตาขึ้นมาและเริ่มดิ้น ก็จะสบายใจได้ว่าสมองของเจ้าตัวเล็กน่าจะปกติดี ขั้นตอนสุดท้ายคือการเอาท่อช่วยหายใจออก ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลา 1–2 วัน หลังผ่าตัด เมื่อเจ้าตัวเล็กสามารถหายใจได้เองและเริ่มกินนมได้อย่างดีแล้ว ก็ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ ชีวิตใหม่อีกหนึ่งชีวิตก็พร้อมที่จะเจริญเติบโตต่อไป