ข้อสังเกตอาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

ข้อสังเกตอาการของโรคหัวใจแต่กำเนิด

          โรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital heart disease) เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 8 คน ในทารกแรกเกิด 1,000 คนในแต่ละปี โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ตามอาการหลักของโรคคือ โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดเขียว (Cyanotic Congenital heart disease) และโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว (Non- Cyanotic Congenital heart disease) อาการและความรุนแรงของแต่ละโรคนั้นจะแตกต่างกันไป  การเข้าใจในอาการของแต่ละโรคและการได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุจะสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดสามารถมีชีวิตและเติบโตได้ตามปกติหรือเทียบเท่าปกติ ซึ่งผู้ปกครองที่ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลและสังเกตอาการที่ปกติและผิดปกติของผู้ป่วยกลุ่มนี้ การสังเกตของผู้ป่วยและอธิบายให้แพทย์ผู้ดูแลได้ประเมินอย่างถูกต้องจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม และสามารถแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

            ตัวอย่างอาการหรือความผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ได้แก่

  1. อาการเขียว (Cyanosis) คือ จะพบว่า
    • เด็กจะมีสีผิวที่ดูแตกต่างจากเด็กทั่วไป ตำแหน่งที่เห็นได้ชัด คือ ริมฝีปาก ลิ้น เหงือก ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า โดยเฉพาะเวลาดูดนม ร้องไห้หรือออกแรงมากขึ้น จะเห็นว่ามีสีคล้ำมากขึ้น ทางการแพทย์เรียกว่า มีภาวะเขียว โดยผู้ปกครองจะมองเห็นว่า มีบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือและเท้ามีสีแดงคล้ำหรือม่วงคล้ำ ไม่เป็นสีชมพูเมื่อเทียบกับเด็กปกติ การมีภาวะเขียวนานๆ เรื้อรังจะมีผลให้ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าโต
    • เล็บนูนขึ้นเป็นปุ่มขึ้นคล้ายกับไม้ตีกลอง (Clubbing) หรือ เรียกอีกอย่างว่า นิ้วปุ้ม ซึ่งอาการเขียวที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่มีความผิดปกติภายในหัวใจและ/หรือหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ หรือมีการอุดตันของทางออกของเลือดที่ไปปอด ทำให้มีเลือดดำมาผสมกับเลือดแดงที่จะส่งออกไปเลี้ยงร่างกาย เลือดจึงมีสีคล้ำขึ้น ปริมาณออกซิเจนที่มาเลี้ยงที่อวัยวะต่างๆ ลดต่ำกว่าปกติ
    • ในเด็กบางคนที่มีอาการเขียวคล้ำมาก อาจพบว่า เด็กมีพัฒนาการช้าลง เช่น ไม่ยอมคลาน ไม่ยอมเดิน
    • ในรายที่เขียวมากๆ นานๆ อาจส่งผลให้มีการพัฒนาทางสติปัญญาที่ช้ากว่าปกติได้
  2. อาการของภาวะหัวใจวาย เช่น
    • ดูดนมแล้วเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ชายโครงลึกบุ๋ม ดูดนมได้ช้าและต้องหยุดพักบ่อย อาการเหล่านี้เกิดจากมีการคั่งของเลือดที่ปอด ทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนกับเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควรและมีความยืดหยุ่นของปอดน้อยลง
    • อาการหายใจเร็ว หอบ โดยเฉพาะหลังเล่นหรือออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย สาเหตุเนื่องจากมีการคั่งของเลือดในปอด
    •  หัวใจเต้นเร็วและแรงกว่าปกติ บางครั้งสามารถเอามือสัมผัสการเต้นของหัวใจจากหน้าอกได้หรือมองเห็นอกกระเพื่อมตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ทั้งนี้เกิดจากการที่หัวใจพยายามบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกายซึ่งมากกว่าคนปกติ
    • เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ เนื่องจากดูดนมได้น้อย ช้า ต้องจำกัดปริมาณนม ได้รับยาขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังเกิดจากการดูดซึมอาหารของลำไส้ไม่ดีเท่าปกติเพราะมีการคั่งของเลือดทำให้ได้อาหารไม่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย จึงมีผลทำให้ผอมและเจริญเติบโตช้า น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น แต่การเจริญเติบโตทางด้านสติปัญญาเท่ากับเด็กปกติ
    • เหงื่อออกมากผิดปกติ เหงื่อออกมากไม่ว่าจะอากาศร้อนหรือหนาว โดยเฉพาะหน้าผาก ด้านหลังศีรษะและหลังเพราะการทำงานของหัวใจและร่างกาย (Metabolism) ตลอดจนระบบประสาทซิมพาเธติกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะภาวะที่มีหัวใจวายร่วม
    • มีการติดเชื้อบ่อยๆ ปอดอักเสบบ่อยๆ เนื่องจากมีการคั่งของเลือดที่เยื่อบุผิวของหลอดลมและที่ปอดมีการติดเชื้อง่ายกว่าปกติ และเมื่อเป็นแล้วมักมีอาการรุนแรงหรือหายช้ากว่าปกติ

            ข้อสังเกตเหล่านี้ ต้องอาศัยผู้ปกครองในการสังเกตอาการต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อที่จะได้นำผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาเมื่อมีความผิดปกติได้อย่างทันท่วงที