ประเภทของโรคหัวใจในเด็ก

ประเภทของโรคหัวใจในเด็ก

         จริงๆ แล้วโรคหัวใจในเด็ก หากแบ่งตามเวลาของการเกิดโรค สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มโรคหัวใจแต่กำเนิดซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 70-80 ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจทั้งหมด ตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผนังกั้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดเกิน ลิ้นหัวใจตีบ โรคหัวใจชนิดเขียว เป็นต้น  จากสถิติพบว่า ทารกแรกเกิดทุกๆ 1,000 คนจะมี 8 คนที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด อีกกลุ่มนึงคือ โรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลังซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 20-30 ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจทั้งหมด ตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ได้แก่ลิ้นหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือโรคหลอดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติที่พบได้ในโรคคาวาซากิ โรคหัวใจรูห์มาติก เป็นต้น ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป

 

ประเภทของโรคหัวใจในเด็ก

1. โรคหัวใจแต่กำเนิด

โรคหัวใจแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้จากการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ในตัวอ่อน โรคนี้อาจตรวจพบได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ หลังคลอดหรืออาจตรวจพบเมื่อเด็กโตขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดจะมีอาการหัวใจวายหรือเขียวซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจแต่กำเนิดอย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายๆอย่างร่วมกันทั้งทางพันธุกรรมร่วมกับทางสิ่งแวดล้อม  มีบางส่วนเกิดจากการที่มารดาติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงไตรมาสแรก หรือการได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ การได้รับรังสีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งมารดาที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก, มารดาเป็นโรคเบาหวานหรือโรคทางพันธุกรรม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคหัวใจแต่กำเนิดทั้งสิ้น โรคหัวใจแต่กำเนิดยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่มีอาการตัวเขียว

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะพบว่า จะมีอาการเขียวโดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปากมาแต่กำเนิดหรือค่อยๆ เขียวมากขึ้นหลังคลอด ในรายที่มีอาการเขียวมากและเรื้อรังจะพบว่ามีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าปุ้ม โรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้คือ ชนิดที่มีรูรั่วที่ผนังกั้นระหว่างห้องล่างของหัวใจร่วมกับการตีบของทางออกของห้องล่างขวา (Tetralogy of Fallot หรือ TOF) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่มีอาการตัวเขียวชนิดอื่นๆ ที่สามารถพบได้ เช่น

I.    ชนิดที่เส้นเลือดใหญ่ของหัวใจและปอดสลับกัน (Transposition of great artery หรือ TGA)

II.   ความผิดปกติของเส้นเลือดปอดที่นำเลือดกลับมายังหัวใจ (Total anomalous pulmonary venous connection หรือ TAPVC)

III.  โรคหัวใจพิการแบบซับซ้อน (Cyanotic complex congenital heart disease)  

          2. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ไม่มีอาการตัวเขียว

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะพบว่า จะประกอบด้วย ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการหอบเหนื่อยเนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้คือ การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องล่าง (Ventricular septal defect หรือ VSD) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่ไม่มีอาการตัวเขียวชนิดอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อย เช่น

  1. การมีความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่ระหว่างหัวใจและปอด (Patent ductus arteriosus หรือ PDA)
  2.    การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องบน (Atrial septal defect หรือ ASD)
  3. การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องบนและล่าง (Atrioventricular septal defect หรือ AVSD)

            นอกจากตัวอย่างโรคเหล่านี้ยังมีโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดไม่เขียวอีกหลายชนิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่า อาการที่พบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค บางรายอาจไม่มีความผิดปกติเลย ในขณะที่บางรายมีอาการรุนแรงและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดมีมากจนไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ได้หลังคลอด หรือบางรายอาจมีโรคแทรกทำให้อาการทางหัวใจเลวลงจนเสียชีวิต หรือบางรายอาจได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทันท่วงที จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

2. โรคหัวใจในเด็กที่เกิดขึ้นมาภายหลัง                

โรคหัวใจในเด็กชนิดนี้เป็นชนิดที่เกิดขึ้นหลังคลอด โดยมีสาเหตุการเกิดต่างๆ กันไป ส่วนใหญ่จะเป็นจากการติดเชื้อ โรคหัวใจในเด็กที่เกิดขึ้นในภายหลังชนิดต่างๆ ที่พบได้บ่อย คือ

  1. โรคหัวใจรูมาติก เกิดจากโรคไข้รูมาติก ซึ่งอาการของไข้รูมาติกคือ เป็นไข้ ปวดบวมอักเสบตามข้อ อาจมีผื่นแดงที่ผิวหนัง มีตุ่มแข็งที่ชั้นใต้ผิวหนัง และถ้ามีหัวใจอักเสบร่วมด้วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หอบ ปวดบวมอักเสบที่เท้าและขา โรคนี้มักพบได้ในเด็กโตอายุ 5 ปีขึ้นไป ถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้องจะป้องกันการเกิดโรคหัวใจรูมาติกได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นแล้วต้องระวังเพราะโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ยากมาก และมักเหลือรอยโรคที่หัวใจไว้ โดยจะพบว่าลิ้นหัวใจจะมีการตีบหรือรั่วอย่างมาก ในบางกรณีจะต้องผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำไปนานหลายปีหรือตลอดชีวิต ในปัจจุบันพบว่า ระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจรูมาติกลดลง
  2. โรคคาวาซากิ สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด พบบ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี อาการจะเริ่มจากมีไข้สูงประมาณ 5 วัน โดยที่หาสาเหตุของการติดเชื้อไม่พบ ร่วมกับมีอาการต่างๆ ได้แก่ ตาแดง ริมฝีปากแดง แห้ง มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มีผื่นหรือมือเท้าบวม ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือ การโป่งพองของเส้นเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้เกิดการแตกหรืออุดตันของเส้นเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหัวใจได้
  3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสทุกชนิดจะสามารถทำให้เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจได้ เชื้อไวรัสที่พบบ่อยว่า เป็นสาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคือ เชื้อ Coxsakies Virus เด็กที่ป่วยจะมีอาการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อน คือ เป็นไข้ มีผื่นขึ้น อ่อนเพลีย อาจมีอาการหอบ หัวใจเต้นเร็วและหัวใจวาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  4. โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคหัวใจอันเกิดจากโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคหัวใจที่เกิดจากภาวะโลหิตจาง โรคทาลัสซีเมีย ไตวายเรื้อรัง และความผิดปกติทางพันธุกรรม

          ในปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีใดที่จะป้องกันโรคหัวใจในเด็กได้ 100% แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในเด็กได้โดยมีหลักการทั่วๆ ไป คือ

  • สตรีวัยเจริญพันธุ์ ควรมีการวางแผนการมีบุตรเป็นอย่างดี เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อยสามเดือน ไม่รับยาและสารเคมีโดยไม่จำเป็นหลังการวางแผนมีบุตร โดยเฉพาะ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอออล์
  • สตรีที่ต้องการจะตั้งครรภ์โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง มารดาอายุน้อยกว่า 18 หรือ มากกว่า 35 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการได้รับรังสีหรือสารกัมมันตรังสีอื่นๆ ตลอดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของอายุครรภ์
  • ในระหว่างการตั้งครรภ์ ให้หลีกเลี่ยงการเข้าที่ชุมชน ซึ่งเป็นการเลี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรีย
  • ในมารดาที่เคยมีบุตรเป็นโรคหัวใจหรือมีความผิดปกติทางโครโมโซม ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อวางแผนการมีบุตรคนต่อไป โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคซ้ำและเพื่อรับพิจารณาการตรวจพิเศษระหว่างการมีครรภ์ เช่น การตรวจน้ำคร่ำ การตรวจอัลตราซาวน์ดูหัวใจของทารกขณะตั้งครรภ์